เริ่มจากการวิเคราะห์ทัศนคติแบบเดิมที่ว่า “คนเปลี่ยนงานบ่อยเป็นคนไม่ทนงาน” ซึ่งเกิดมาจากการที่คนยุคก่อน อย่างเช่น เจเนอเรชั่นเบบี้บลูมเมอร์ หรือคนเจนเอ็กซ์ นิยมทำงานที่บริษัทเดิมเป็นระยะเวลานาน เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะบริษัทส่วนใหญ่มักเป็นกิจการที่มั่นคง เนื่องจากสมัยก่อนการทำธุรกิจคู่แข่งยังน้อย และโลกไม่ได้หมุนไวขนาดนี้
ในขณะที่ตอนนี้ในยุคดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน ทำให้ภาพรวมของการทำธุรกิจไม่เหมือนเดิม มีบริษัทขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย ในขณะที่บริษัทใหญ่ ๆ เองก็ปรับตัวให้มีการทำงานที่คล่องตัวขึ้น จึงมีตำแหน่งงานว่าง และโอกาสใหม่ ๆ ทางเลือกใหม่ ๆ มากมายรอให้คนไปสมัคร และพนักงานเองก็มองหาตำแหน่งงานที่ตรงกับความสามารถและความต้องการในชีวิตมากกว่าเดิม “การลาออกบ่อย” จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงสำหรับประวัติการทำงานเหมือนที่ผ่านมา
แน่นอนว่าบริษัทส่วนใหญ่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “การลาออกบ่อย” เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีส่วนที่เป็นจุดสำคัญให้บริษัทคิดเมื่อจะต้องเลือกรับพนักงานใหม่สักคน นั่นก็คือ “เวลาและทรัพยากรที่จะต้องใช้ไปในการเทรนพนักงานใหม่”
ทุกบริษัทเมื่อรับพนักงานแล้วก็มักจะคาดหวังให้ทำงานอยู่ด้วยกันเป็นระยะเวลานานพอสมควร เพราะเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการเทรนพนักงาน 1 คน ให้ทำงานได้ ร่วมงานกับทีมได้อย่างกลมกลืนก็ไม่ใช่เวลาหลักวัน หรืออาทิตย์ อาจจะใช้เวลาเป็นเดือนสำหรับ learning curve และการปรับตัวตรงนี้ บริษัทจึงคาดหวังที่จะให้พนักงานที่รับใหม่อยู่ทำงานด้วยกันสักระยะ อาจจะไม่ต้องถึง 5 ปี 10 ปี แต่น่าจะอยู่เป็นหลักปีเป็นอย่างต่ำ เพราะไม่อยากนั้นก็ต้องมาเสียเวลาเทรนพนักงานใหม่อีก ซึ่งอาจจะทำให้บริษัทไม่ได้ผลประโยชน์เท่าที่ควร
นอกจากนี้เหตุผลของการลาออกบ่อย ถ้ามาจากการทำงานเป็นโปรเจค หรือเป็นสัญญาจ้างที่มักจะมีระยะเวลาทำงานไม่นานนัก ก็แทบจะไม่มีผลอะไรเมื่อต้องไปสมัครงานใหม่ เพราะลักษณะงานเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว นายจ้างส่วนใหญ่มักจะเข้าใจดี ขอแค่คุณระบุไว้ในเรซูเม่ให้ชัดเจนว่างานนี้ทำเป็นสัญญาจ้าง หรืออธิบายตอนถูกสัมภาษณ์และเล่าต่อเนื่องถึงประสบการณ์ทำงานและสิ่งที่คุณได้รับจากงานนี้จะสามารถมาต่อยอดในตำแหน่งงานที่คุณสมัครอยู่ได้อย่างไร ก็ทำให้คุณมีโอกาสได้งานเพิ่มขึ้นแล้ว
ดังนั้นโดยรวมแล้ว “การลาออกบ่อย” เลยยังมีผลอยู่บ้างเมื่อต้องไปสมัครงานที่ใหม่ แต่หากว่าคุณตอบคำถามได้ดี อธิบายได้ว่าคุณเองก็ทุ่มเททำงานให้บริษัทอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่มันยังมีเหตุผลอื่นที่ทำให้คุณต้องก้าวต่อไปใน career path ของคุณ โดยที่ไม่พาดพิงถึงบริษัทเก่าอย่างเสียหาย เช่น ลาออกบ่อยเพราะเจ้านายไม่ดี ไม่ตรงใจ แต่พยายามอธิบายในส่วนของทัศนคติที่ดีที่คุณมีต่องานและเป้าหมายของคุณมากกว่า